ข้อมูลพื้นฐาน
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ ได้เคยจัดตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนตำบล พ.ศ.2499 เป็นรูปการณ์ปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ต่อมาได้ถูกยกเลิกไปโดยเหตุผลที่ว่าไม่อาจปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพได้ ซึ่งถูกยกเลิกโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธ.ค.2515 แล้วจัดตั้ง “สภาตำบล”แทน และสภาตำบลรูปนี้ก็ได้ดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2537 จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537โดยได้ปรับปรุง ฐานะของสภาตำบลที่มีอยู่ในฐานะเป็นนิติบุคคล และปรับปรุงการบริหารงานของสภาตำบลใหม่ ให้สามารถรองรับการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้มีการยกฐานะสภาตำบลซึ่งมีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมรติดต่อกันสามปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทขึ้นเป็นอบต.ได้
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ แต่เดิมคือสภาตำบลหนองปรือได้จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ประกาศ ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2539 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2539 ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรืออยู่ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขนาดกลาง (ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนเป็น ท้องถิ่นสามัญ

ลักษณะภูมิประเทศ
ที่ตั้งตำบลหนองปรือ ตำบลหนองปรือ เดิมเป็นตำบลเดียวกับตำบลหนองรี อำเภอบ่อพลอย ต่อมาแยกจากตำบล หนองรี เป็นตำบลหนองปรือ ต่อมาตำบลหนองปรือได้แยกเป็นตำบลหนองปลาไหลและตำบลสมเด็จเจริญปัจจุบันตำบลหนองปรือมี 20 หมู่บ้าน เหตุที่เรียกหนองปรือเนื่องจากมีหนองน้ำขนาดใหญ่ มีต้นปรือขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อว่าหนองปรือ
พื้นที่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ ส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นที่ราบสูงๆ ต่ำ คล้ายลูกคลื่น ในหุบเขา กล่าวคือ มีภูเขาล้อมรอบทั้งหมด และมีลำน้ำโบราณหลายสายไหลลงมาจากภูเขา ลงสู่ใจกลางพื้นที่จนเกิดลำห้วย ลำห้วยสายหลักคือ ลำตะเพิน ลำห้วยส่วนใหญ่มีลักษณะตื้นเขินด้วยตะกอนดิน พื้นที่ลำห้วยไม่มีประสิทธิภาพในการรองรับและกักเก็บน้ำ โดยเฉพาะในฤดูฝนที่จะเกิดกระแสน้ำไหลบ่าจากภูเขารอบข้างอย่างรวดเร็วและรุนแรง สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินรวนปนทราย ยกเว้นทางตะวันตกของพื้นที่จะมีลูกรังปะปนอยู่จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พื้นที่ส่วนใหญ่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ จำพวก อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯ ได้ตามฤดูกาล


ลักษณะภูมิอากาศ
จากสภาพการณ์ที่ทรัพยากรด้านป่าไม้ถูกทำลาย มีผลกระทบต่อดุลยภาพทางธรรมชาติเกิดภาวะภูมิอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดภาวะอากาศแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์น้อย เฉลี่ยโดยรวมตลอดทั้งปี ประมาณ 1,048.5 มิลลิเมตร อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 23.7 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 39.1 องศาเซลเซียส โดยแบ่งเป็น 3 ฤดูกาล ดังนี้
1. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม ถึง เดือน มิถุนายน 2. ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ กรกฏาคม ถึง พฤศจิกายน
3. ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ ธันวาคม ถึง กุมภาพันธ์
ลักษณะของดิน น้ำ และทรัพยากรป่าไม้
ดิน สภาพพื้นที่ดินส่วนใหญ่ เป็นดินร่วนปนทราย ยกเว้นทางทิศตะวันตก ของพื้นที่มีลูกรัง ปะปนอยู่จำนวนมาก
น้ำ แหล่งน้ำทางการเกษตรเป็นแหล่งน้ำสาธารณะได้แก่ ลำห้วย สายหลักคือ ลำตะเพิน สำหรับ แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เป็นบาดาล มีหินปูนปะปน ป่าไม้ ลักษณะของป่าไม้ในพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้ขนาดกลางและขนาดเล็กขึ้นกระจายทั่วพื้นที่ และไม้คลุมดินขึ้นปกคลุมปานกลาง ชนิดพันธุ์ไม้ ได้แก่ ประดู่ มะค่าแต้ งิ้วป่า เต็ง รัง ซาก บริเวณที่ ราบชายป่าพบ ไผ่ป่าขึ้นอยู่จำนวนมาก ไม้ไผ่ป่า ไผ่รวก ไผ่นวล ขี้แรด เล็บเหยี่ยว เป็นต้น



